เช่าเครื่องเสียงพร้อมเอฟเฟค

เวลาเช่าเครื่องเสียงมักเจอปัญหาไมค์โครโฟนหอน

เรามาทำความเข้าใจเรื่องการที่มีเสียงหอน หรือภาษาสากลเรียกว่า ฟีดแบ็ค(Feedback) กันก่อนว่ามันเกิดจากอะไร

การที่เราป้อนสัญญาณเสียงเข้าไปในระบบเสียงนั้น เริ่มจากเสียงพูดของเราไปเข้าไมโครโฟนและสัญญาณเสียงผ่านเครื่องมือในระบบเสียง ไม่ว่าจะเป็น มิกเซอร์, อีคิว, ครอสโซเวอร์, เพาเวอร์แอมป์ จนกระทั้งสุดท้ายมาออกที่ลำโพง หากว่าสัญญาณเสียงเดินทางตามกระบวนการนี้ทุกอย่างก็จบไม่มีปัญหา แต่บังเอิญว่าปัญหามันเกิดจาก การที่สัญญาณเสียงที่ออกจากลำโพงแล้ววนกลับไปเข้าไมโครโฟนอีกครั้ง วนอยู่อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หากใครเข้าใจเรื่องความดังของเสียงก็จะพอนึกภาพออกว่าเมื่อความดังของเสียงความถี่เดียวกันมีเฟสตรงกันความดังก็จะเพิ่มขึ้น มันเพิ่มมากเกินไปจนความถี่นั้นล้นออกมาทำให้กลายเป็นเสียงหอนหรือเสียงฟีดแบ็ค (Feedback) ได้ครับ ซึ่งเสียงหอนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเสียงวนกลับเข้าไมโครโฟนเท่านั้น แต่มันสามารถเกิดจากการผิดพลาดในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ก็ได้เหมือนกัน รวมถึง การใช้งานของตัวผู้ใช้ไมค์ เองด้วย

สรุปสาเหตุที่ทำไมค์หอน
– สัญญาณเสียงวนกลับเข้าไปในไมโครโฟน .. หรือ
– ความผิดพลาดในการเชื่อมต่ออุปกรณ์
– การใช้งานของผู้ใช้

วิธีแก้ปัญหาไมค์หอน
บ่อยครั้งที่เรามักเข้าใจผิดว่าการแก้ปัญหาเรื่องไมค์หอนหรือเสียงฟีดแบ็ค(Feedback) นั้นต้องใช้ไมโครโฟนหรือเครื่องเสียงราคาแพง อยากบอกว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เครื่องเสียงราคาแพงนั้นให้คุณภาพเสียงที่ดีแต่ไม่ได้แก้เรื่องเสียงหอน หากต้องการแก้เรื่องเสียงหอนเราต้องเริ่มจากการใช้งานเครื่องเสียงของเราได้อย่างถูกวิธี ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้แก้ไขปัญหาการเกิดเสียงหอนได้ง่ายเรามาดูกัน

1. การตั้งค่าเกน (Gain)ของไมโครโฟน
สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการตั้งค่าเกนอินพุทของไมโครโฟน หากเราไม่เข้าใจเรื่องการตั้งค่าเกนไมโครโฟน ต่อให้เราใช้เครื่องเสียงเป็นล้านก็ไม่สามารถช่วยเรื่องไมหอนได้ เกนอินพุทของไมโครโฟนถือเป็นด่านแรกที่เราจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจว่าตั้งค่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม หากเราตั้งค่ามากเกินไปแน่นอนว่าไมโครโฟนตัวนั้นจะรับเสียงได้ไวขึ้นและจะไม่รับเสียงที่เราพูดอยู่อย่างเดียวจะรับเสียงอื่นๆที่อยู่รอบๆตัวเราเข้ามาด้วยยิ่งเสียงที่ออกจากลำโพงก็จะทำให้เกิดเสียงหอนได้ง่ายขึ้น

2. เลือกไมโครโฟนให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ชนิดของไมโครโฟนหลักๆมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ ไดนามิคไมโครโฟน และคอนเดนเซอร์ไมโครโฟน ความเข้าใจผิดๆที่เรามักรู้กันคือถ้าใช้คอนเดนเซอร์ไมโครโฟนแล้วเสียงจะหอนง่ายซึ่งไม่ใช้เรื่องจริง ไม่ว่าจะใช้ไดนามิคหรือคอนเดนเซอร์หากเราใช้ไม่เหมาะสมกับการใช้งานก็สามารถทำให้เกิดเสียงหอนได้ง่ายเช่นกัน คอนเดนเซอร์ไมโครโฟนจะให้ย่านเสียงต่ำที่ราบเรียบสม่ำเสมอและย่านเสียงแหลมที่มีความคมชัดมากมากกว่าไดนามิคไมโครโฟนในขณะที่เราพูดห่างไมโครโฟน

รูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟนนั้นก็สำคัญเช่นเดียวกัน หากเราเลือกใช้ไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงแบบ ออมนิไดเร็คชั่นนอล(Omni directional)เพื่อนำมาใช้งานบนเวทีมีลำโพงเยอะแยะมากมาย เสียงจะรับทุกทิศทางทำให้เสียงที่ออกจากลำโพงจะวนกลับเข้ามาได้ง่ายขึ้นทำให้เกิดเสียงหอนตามมา เราก็ต้องจำเป็นต้องเลือกไมโครโฟนที่มีการรับเสียงที่เหมาะสมกับการใช้งาน

3. ตำแหน่งและการถือใช้งานไมโครโฟน
เพราะการที่เรากำหัวไมโครโฟนมือที่เรากำนั้นจะไปบดบังวงจรที่สร้างรูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟน ทำให้วงจรทำงานผิดเพี้ยน   รูปแบบการรับเสียงแบบเดิมไม่สามารถทำงานได้ เช่น ไมโครโฟนรูปแบบการรับเสียงแบบคาร์ดิออย (Cardioid) เมื่อเราไปกำหัวไมค์การรับเสียงก็จะกลายเป็น ซับคาร์ดิออย (Subcardioid) หรือเกือบๆเป็นการรับเสียงแบบ ออมนิไดเร็คชั่นนอล(Omni Directional) นั่นคือการรับเสียงแบบรอบทิศทางทำให้เกิดเสียงหอนได้ง่ายเช่นกัน ระยะห่างจากปากผู้พูดก็เหมือนกันหากเราพูดห่างมากๆเราก็ต้องเพิ่มเกนอินพุทของไมโครโฟนมากขึ้น เพื่อให้ได้ยินรายละเอียดเสียงสิ่งที่ตามมาคือ เสียงอื่นก็จะเข้ามามากขึ้น ฉะนั้นยิ่งพูดใกล้ไมโครโฟนมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็เพิ่มเกนอินพุทของไมโครโฟนน้อยลง เสียงอื่นก็จะรั่วเข้าน้อยลงโอกาสที่จะเกิดเสียงหอนก็น้อยลงตามไปด้วย เช่น ไมโครโฟนชุดประชุมที่หลายๆท่านมักจะเจอปัญหาเรื่องเสียงหอน เพราะบางครั้งเราพูดห่าง ไมโครโฟนมากจนเกินไปหรือเลือกความยาวของก้านไมโครโฟนไม่เหมาะสมกับผู้พูด เมื่อพูดห่างมากเสียงเบาทำให้ต้องเพิ่มเกนอินพุทของไมโครโฟนมากขึ้นเสียงหอนก็ตามมา เพราะไมโครโฟนอยู่ใกล้กับลำโพงมากหากติดตั้งไมโครโฟนไม่เหมาะกับผู้ใช้งานก็จะก่อปัญหาได้

4. การเลือกลำโพงและการวางตำแหน่งที่เหมาะสม (บทความการจัดวางตำแหน่งลำโพง)
แน่นอนว่าหากเราเลือกลำโพงมาใช้งานผิดประเภทไม่เหมาะกับห้องประชุมที่เรากำลังใช้งานมักจะก่อปัญหาให้เราเยอะแยะมากมายทั้งความดังที่ไม่เพียงพอและเสียงสะท้อนกลับจากผนังมาเข้าไมโครโฟนอีกล้วนแล้วแต่สร้างปัญหาให้เราทั้งสิ้น สิ่งสำคัญในการเลือกลำโพงมาใช้กับห้องประชุมนั้นคือความดังของลำโพง โดยเราดูจากเซนซิติวิตี้ (Sensitivity) ความดังของลำโพงที่ 1วัตต์/1เมตร ว่ามีความดังเท่าไหร่(ยิ่งมากยิ่งดี) ไม่ได้ดูที่กำลังวัตต์ หากเราเลือกลำโพงที่มีความดังที่เหมาะสมกับห้องแล้วเมื่อเราใช้ไมโครโฟนก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเกนมากจนเกินไปก็ได้ยินเสียงดังทั่วทั้งห้อง หากเลือกลำโพงได้แบบนี้แล้วต่อให้เราติดตั้งลำโพงด้านหลังผู้พูดหรือเดินผ่านหน้าลำโพงก็ยากที่จะทำให้เกิดเสียงหอนได้

5. อุปกรณ์ช่วยจัดการเสียงหอน
ส่วนมากแล้วอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะเป็นอุปกรณ์จำพวกอีคิว (EQ) ไม่ว่าจะเป็นพาราเมตริคอีคิว (Parametric EQ) หรือกราฟฟิคอีคิว (Graphic EQ) ก็ดี ล้วนมีส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการช่วยจัดการเสียงหอนของไมโครโฟน เราเลยต้องลงทุนอุปกรณ์จำพวกนี้ไว้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งขึ้นอยู่ความชำนาญของผู้ใช้ในการใช้ตัดเสียง และสถานที่ใช้งานเป็นองค์ประกอบร่วม

ซึ่งบทความนี้คงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้หัดเล่นเครื่องเสียง หรือเริ่มทำกิจการเกี่ยวกับการเช่าเครื่องเสียง